ทักษะที่ดีในการทำงาน หากคุณอยู่ในตำแหน่งไหนก็ตาม ข้อแรกที่คุณต้องมี นอกจากความเก่งในการทำงานแล้ว สิ่งที่จะทำให้คุณพิเศษกว่าคนอื่น นั่นก็คือ “คำพูด” เพราะคำพูดเป็นได้ทั้งอาวุธ และเยียวยาจิตใจได้ ดังนั้นเราจึงนำ 5 วิธีการพูดโน้มน้าวใจให้คนเชื่อใจ มาฝากกันค่ะ
5 วิธีการพูดโน้มน้าวใจให้คนเชื่อใจ
1. รู้จักกลุ่มเป้าหมายที่จะสื่อสาร
การทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย หรือคนที่จะมาฟังเรา เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เพราะความแตกต่างระหว่างบุคคล มีผลต่อการรับรู้และทำความเข้าใจ เช่น การพูดโน้มน้าวใจเด็ก ต้องใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวล ดูสนุกสนานอารมณ์ดี การพูดเพื่อแนะนำสินค้าต่าง ๆ ต้องพูดถึงคุณสมบัติอย่างเข้าใจ และสามารถอธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ได้ เมื่อมีการถามกลับจากกลุ่มลูกค้า การพูดกับหัวหน้างาน อาจต้องพูดในแนวปลุกใจ ให้สามารถควบคุมงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
ถ้าคุณเข้าใจกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ สิ่งที่คุณพูดอาจทำให้เขา สามารถปรับพฤติกรรมให้ดียิ่งขึ้นได้
2. พูดแบบเป็นลำดับ อย่าเร่งเร้า
แม้ว่าคุณจะคิดว่า ไอเดียของคุณดีที่สุด แต่วิธีการที่เร่งรีบที่จะพูด ก็มีแต่จะขับไล่ผู้คนออกไป การเร่งเร้าทำให้เกิดการตั้งรับ และทำให้ผู้คนสนใจมากก็จริง แต่ผลเสียของมันก็มี เพราะคุณอาจจะนำเสนอ ได้ไม่ละเอียดถี่ถ้วน และดูน่าเชื่อถือน้อยลง
ดังนั้นแนวทางที่จะทำให้เขามั่นใจ และเชื่อใจในตัวคุณ แสดงให้เห็นว่าคุณไม่ได้พูดอ้อมค้อม หรือใช้กลวิธีพลิกแพลง เราอยากให้คุณเริ่มจุดประเด็น จากสิ่งสำคัญน้อยที่สุด ไล่ไปทีละขั้นตอน จนถึงจุดสำคัญของเรื่องนั้น ๆ และเปิดโอกาสให้ผู้ฟัง เสนอประเด็นต่าง ๆ ที่อาจจะตกหล่นไปบ้าง ดังนั้นการวางแผนเรื่องที่จะพูด ก็จะช่วยได้มาก สำหรับการพูดในลักษณะนี้ เพื่อโน้มน้าวให้อีกฝ่ายสนใจ
3. ใช้ภาษากายแทรกในบางจังหวะ
การสื่อสารเพื่อโน้มน้าวใจคน ภาษาที่ใช้นอกจากจะเป็นการพูด เพื่อสื่อสารซึ่งกันและกันแล้ว ภาษากายหรือ “อวัจนภาษา” ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการสื่อสารแบบอวัจนภาษา ที่ใช้ภาษากายแสดงทัศนคติเชิงบวก เพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้ามา และอาจทำให้พวกเขา เปิดรับแนวความคิดของคุณมากขึ้น
การใช้ภาษากายในการสื่อสาร มีวิธีการมากมาย เช่น การกางแขนผายมือออกไป การสบตาแล้วโน้มตัวเข้าหาผู้พูด ใช้น้ำเสียงที่เร่าร้อน พร้อมชูมือขึ้นในการหาเสียง เป็นต้น ดังนั้นภาษากายจึงมีส่วนสำคัญ ที่จะช่วยสนับสนุนให้การพูด ดำเนินไปอย่างน่าสนใจ และดึงดูดใจของคนได้ อย่างที่คุณไม่คาดคิดมาก่อน
4. เข้าประเด็นเร็ว แต่ได้ใจความ
เมื่อใดก็ตามที่คุณฟังการพูดที่เยิ่นเย้อ ไม่เข้าประเด็นสักที คุณอาจจะเกิดอาการเบื่อหน่าย และพลอยไม่อยากฟังต่อไปโดยปริยาย ดังนั้นการอธิบายอะไร ที่ฟังดูยุ่งยากและซับซ้อน อาจทำให้ผู้ฟังเกิดความน่าเบื่อ และแนวคิดของคุณ ก็ดูน่าสนใจน้อยลง ดังนั้นพูดศัพท์ง่าย ๆ พูดแค่ไม่กี่คำก็เข้าใจได้เลย เช่น ถ้าคุณทำดี ย่อมได้ดีในสักวัน, ถ้าคุณฆ่าสัตว์ ย่อมผิดศีล 5, ถ้ากินเผ็ดบ่อย ๆ คุณอาจเป็นโรคกระเพาะอาหาร เป็นต้น
ดังนั้นการพูดกับผู้ฟัง อย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใส จะทำให้ประเด็นของคุณ เป็นที่เข้าใจง่าย ได้ความรู้ และสนุกสนาน แล้วค่อยแสดงความคิดอย่างลึกซึ้ง เกี่ยวกับหัวข้อนั้นในภายหลัง ซึ่งจะทำให้คนฟังเชื่อมั่น และอยากจะฟังคุณต่อไปเรื่อย ๆ
5. ใช้น้ำเสียงที่จริงใจ
หากคุณพยายามโน้มน้าวใจผู้อื่น ให้เกิดความเชื่อมั่นในคุณ การมีความซื่อสัตย์เป็นที่ตั้ง อาจช่วยเพิ่มความไว้วางใจได้มาก โดยเฉพาะการพิสูจน์ว่า ไอเดียของคุณสามารถสร้างมูลค่า ได้มากกว่าของคนอื่น ต้องไม่ใช่แค่การหลอกให้คนอื่นเชื่อ แต่ต้องเป็นไอเดียที่สามารถทำได้จริง คุณต้องมีความจริงใจ ในการถ่ายทอดสิ่งที่จะพูด และใช้น้ำเสียงที่จริงใจ แสดงรายละเอียดในสิ่งที่จะทำ โดยสามารถชี้แจงทุกองค์ประกอบ ได้แบบไม่มีติ ทำให้ผู้คนรับรู้ได้ถึงความจริงใจ และอยากซื้อไอเดียของคุณในที่สุด
ด้วยวิธีการนี้พวกเขาจะลดความระมัดระวัง และเปิดรับคุณมากขึ้น ดังนั้นการโน้มน้าวใจคน อาจไม่ได้มุ่งเน้นแค่การพูดเพียงอย่างเดียว แต่ประเด็นสำคัญ อาจเป็นเรื่องของการสร้างสายสัมพันธ์ให้ดีขึ้น จากการสื่อสารที่ถูกวิธีมากกว่า นั่นเอง
ติดตามบทความอย่างรวดเร็วได้ที่ Facebook : Bamesae
ดูบทความอื่นๆได้ที่ Longdosi.com